คำอธิบาย
พระผงพิมพ์อู่ทอง วัดอ่างทองวรวิหาร จ.อ่างทอง ปี 2491 ผสมมวลสารสมเด็จเกศไชโยที่ชำรุด พระพิมพ์ของวัดอ่างทองวรวิหาร มีห้าทรงพิมพ์ คือ
1. พิมพ์สมเด็จ 7 ชั้น อกวี
2. พิมพ์สมเด็จ 7 ชั้น ไหล่ตรง
3. พิมพ์ขุนแผน
4. พิมพ์อู่ทอง
5. พิมพ์นางพญา
สำหรับพิมพ์อู่ทอง แกะเป็นรูปหลวงพ่อทอง ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ใช้แม่พิมพ์เดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนกรอบกระจกเท่านั้น พระทั้ง 5 พิมพ์ใช้แม่พิมพ์ทองเหลือง ซึ่งสั่งทำพร้อมกับแม่พิมพ์พระพิมพ์ที่ระลึกของวัดไชโยวรวิหาร
วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างเพื่อให้เป็นที่ระลึกในการบูรณะพระอุโบสถของวัดอ่างทองวรวิหารและเป็นพระประจำวัดของทั้งสองวัด สร้างพร้อมกับพระพิมพ์ที่ระลึกแห่งชาตกาล ครบรอบ 160 ปี ในปี พ.ศ.2491 พระพิมพ์ทั้งสองวัดสร้างพร้อมกัน ราวเดือนมีนาคม พ.ศ.2491 เพื่อให้พิมพ์ทั้งหมดถึงแดดในหน้าแล้ง (คือการตากพระให้แห้งสนิท ในฤดูร้อนและฤดูหนาว)
มวลสารที่ใช้ในการสร้าง คือพระสมเด็จเกศไชโยของสมเด็จโต ที่ชำรุดนำมาบดรวมกับมวลสารอื่นๆตามกรรมวิธี โดยวัดไชโยวรวิหารเป็นผู้ทำการผสมเนื้อหา ซึ่งในการสร้างพระแต่ละครั้งต้องใช้กำลังคนมาก ทั้งพระ เณร ชาวบ้าน เด็กวัด
เมื่อได้เนื้อหาตามความต้องการ ก็แบ่งออกเป็น 2 ส่วน สำหรับวัดไชโยวรวิหาร 1 ส่วน ของวัดอ่างทองวรวิหาร 1 ส่วน เนื้อหายุคแรกๆจะออกวรรณะเหลืองนมข้น ส่วนผสมครั้งต่อๆมา จะออกเหลืองอ่อนถึงขาวนวล โดยเข้าพิธีพุทธาภิเษก ณ วิหารหลวงวัดไชโยวรวิหาร ราวต้นปี พ.ศ.2490