คำอธิบาย
พระสมเด็จซุ้มเรือนแก้ว (แช่น้ำมนต์) กรุวัดอัมพวา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ฤทธิ์ วัดอรุณราชวราราม ธนบุรี จ.กรุงเทพฯ ท่านสร้างพระแล้วนำไปบรรจุไว้ที่วัดอัมพวาเมื่อครั้งที่ท่านได้ไปบูรณะวัดนี้ราวปี 2450 เนื่องจากท่านเกิดและเติบโตบริเวณวัดอัมพวา ซึ่งในขณะนั้นมีสภาพใกล้เป็นวัดร้างเต็มที นอกจากนี้ท่านยังได้นำพระชุดนี้ไปบรรจุกรุอีกหลายวัด ย่านบ้านช่างหล่อ พรานนก ซึ่งเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับท่านเจ้าประคุณทั้งสิ้น เช่น วัดนาคกลาง, วัดดงมูลเหล็ก
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ฤทธิ์ ท่านเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนาอย่างยิ่ง พระคณาจารย์หลายต่อหลายรูปที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหลายต่อหลายท่านก็เคยได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาทางพุทธาคมจากท่าน ไม่ว่าจะเป็นหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, พระครูภาวนาวิจารณ์ (ลืม) วัดอรุณฯ, พระพิมลธรรม (นาค) วัดอรุณฯ, หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร
วิชาที่นับว่ามีชื่อเสียงของท่าน คือ วิชาทำตะกรุดและวิชาทำผงกลับศัตรูเป็นมิตร เป็นวิชาทางเมตตาชั้นสูงที่เรียนสำเร็จได้ยาก จึงมีศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดไว้ได้ไม่มากนัก หนึ่งในนั้น คือ หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน ผู้สร้างพระปิดตาเนื้อผงและเหรียญรูปเหมือนที่มีค่านิยมถึงหลักล้าน
การสร้างพระเครื่องของท่านจะใช้มวลสารชั้นเยี่ยมมีผงวิเศษสำคัญสุดยอดวิชาในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ฤทธิ์ คือ “ผงกลับศัตรูเป็นมิตร” โดยท่านได้เขียนและลบผงบนกระดานชนวนมาเป็นมวลสารสำคัญ เมื่อได้ผงวิเศษตามต้องการแล้ว ยังต้องหามวลสารอันเป็นมงคลมาบดผสมเข้าไปอีก เช่น เกสรดอกไม้ ตะไคร่เสมา ผงธูป คัมภีร์ใบลานเผา ถ่านไม้มงคล ข้าวสวย ฯลฯ นำมาผสมเข้ากับปูนเปลือกหอย เพื่อเพิ่มปริมาณของเนื้อผงที่จะนำมาทำพระพิมพ์ แล้วจึงใช้น้ำอ้อย กล้วยน้ำไท น้ำปูน เป็นตัวประสานเนื้อ และใส่น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวช่วยให้เนื้อพระมีความยืดหยุ่น นุ่มนวล และยังมีผงวิเศษห้าประการ เช่นเดียวกับพระพิมพ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง อีกด้วย
พระเครื่ององค์นี้ผ่านการแช่น้ำมนต์ทำพิธีต่างๆมา สำหรับผู้ที่สนใจหาพระเครื่องที่มีมวลสารดีและราคาไม่สูง ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง