คำอธิบาย
พระชัยวัฒน์สมเด็จย่า เนื้อโลหะสำริด จัดสร้างในคราวฉลองพระชนมายุ 90 พรรษา เมื่อปี 2533 ปลุกเสกพิธีใหญ่ในวัดพระแก้ว มวลสารที่นำมาจัดสร้างนั้นมีทั้งแผ่นยันต์ที่คณาจารย์ลงอักขระถวายมาหล่อหลอมจำนวนมาก อีกทั้งสมเด็จย่าได้ทรงนำสร้อยพระกรที่พระบรมราชชนกมอบให้ มาร่วมหล่อองค์พระด้วย
มวลสารที่ใช้จัดสร้าง พระชัยวัฒน์ฉลอง 90 พรรษา สมเด็จย่า มีดังนี้
1. เนื้อโลหะ มีเนื้อนวะโลหะที่ได้จากโลหะเดิมของสมเด็จสังฆราชแพ, โลหะเดิมของหลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส และของพระอาจารย์อรรถพล กิตติโก วัดปริวาส รวมเป็นน้ำหนัก 90 กิโลกรัม
2. แผ่นพระยันต์ พระคณาจารย์ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 799 รูป เมตตาลงแผ่นทองแดงให้รวมทั้งสิ้นถึง 5,999 แผ่น น้ำหนักแผ่นทองแดง 52 กิโลกรัม
3. แผ่นทองคำ ได้มีพิธีลงทองโดยพระอาจารย์อรรถพล กิตติโก ในพิธีลงทองและพุทธาภิเษกแผ่นพระยันต์ที่วัดปริวาส เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2533 โดยลงแผ่นพระยันต์ 108 นะปะถะมัง 14 ดวงพระประสูติและตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
4. เนื้อโลหะทองคำ ส่วนหนึ่งจากทองคำบางสะพาน ซึ่งถือเป็นโลหะธาตุทองคำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการสร้างสิ่งมงคลแต่โบราณ รวมถึงทองแดงเถื่อนและทองแดงจันทึก จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับความกรุณาจากกรมทรัพยากรธรณี จัดหาและประสานในการปฏิบัติ ได้โลหะทองคำบางสะพานมา 1,998.7 กรัม ทองแดงเถื่อน 6.5 กิโลกรัม
5. เนื้อโลหะชนวน ชนวนในการสร้างพระพุทธรูป ภปร. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯเททองเมื่อปี 2508 ณ วัดบวรนิเวศฯ, ชนวนในการสร้างพระชัยวัฒน์ พระกริ่งปวเรศร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯเททองเมื่อปี 2528 ณ วัดบวรนิเวศฯ, ชนวนเททองหล่อหลวงพ่อเงิน บางคลานพิจิตร ซึ่งนายประเสริฐ นรัตถรักษา คหบดีจังหวัดพิจิตรมอบให้, ชนวนเททองหล่อสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง ซึ่งนายทวีป ทวีพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองมอบให้
พิธีการในการสร้าง ได้กำหนด 3 พิธี ด้วยกัน
1. พิธีลงทองและพุทธาภิเษกแผ่นพระยันต์ ประกอบพิธีวันที่ 19 มิถุนายน 2533 ณ อุโบสถวัดปริวาส โดยพระญาณโพธิ (เข็ม) ลงทองแผ่นยันต์ 108 นะปะถะมัง 14 นะ ดวงประสูติและตรัสรู้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2. พิธีเททองและพุทธาภิเษก ประกอบพิธีวันที่ 18 สิงหาคม 2533 ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จเป็นองค์ประธานและทรงนั่งปรกพร้อมพระคณาจารย์อื่นๆผู้ทรงคุณนั่งปรก บริกรรมภาวนารวม 28 รูป จำนวนเท่ากับพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ตั้งแต่เวลา 6.00 น. ของวันประกอบพิธีจนถึง 6.09 น. ของวันรุ่งขึ้น และก่อนหน้าพิธีได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระสุหร่าย แผ่นพระยันต์ทั้งหมด ตลอดจนเจิมแผ่นทองคำอีกด้วย
3. พิธีพุทธาภิเษก ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นองค์ประธาน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2533
นับว่าเป็นพระดี พิธีใหญ่ อันทรงคุณค่า ที่น่าเก็บสะสมบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง